วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ส่วนพฤกษศาสตร์

ความหมายของสวนพฤกษศาสตร์

คำว่า “สวนพฤกษศาสตร์” (Botanic gardens) มีการนำไปใช้กับสถาบันต่างๆ จำนวนมาก และหลากหลาย จนยากที่จะให้คำจำกัดความที่แน่ชัดได้ว่า สวนพฤกษศาสตร์คืออะไร พวกหนึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์แบบดั้งเดิม เช่น สวนพฤกษศาสตร์คิว (The Royal Botanical Gardens at Kew) ในประเทศอังกฤษ สวนพฤกษศาสตร์มิสซูรี และสวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา สวนพฤกษศาสตร์เบอร์ลินในประเทศเยอรมนี สวนพฤกษศาสตร์ซิดนีย์ ในประเทศออสเตรเลีย สวนพฤกษศาสตร์พาราเดนียา ในประเทศศรีลังกา สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ในประเทศสิงคโปร์สวนพฤกษศาสตร์กัลกัตตา ในประเทศอินเดีย และสวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ ในประเทศอินโดนีเซีย สวนพฤกษศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสวนพฤกษศาสตร์ ที่มีพืชจำนวนมากมีการจัดหมวดหมู่ ติดป้ายชื่อวิทยาศาสตร์ ไว้อย่างเป็นระเบียบเท่านั้น หากแต่ยังมีสถาบันพฤกษศาสตร์ที่สำคัญๆ ตั้งอยู่ด้วย อาทิ หอพรรณไม้ หรือพิพิธภัณฑ์พรรณไม้ (herbarium) ตลอดจนห้องปฏิบัติการ และบริการด้านอื่นๆ ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดเล็กตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมักมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์น้อยมาก หรือไม่มีเลย นอกจากนี้ ยังมีสวนไม้ประดับ ที่จัดไว้อย่างเลิศหรู ทั้งที่เป็นสวนส่วนตัวและสวนสาธารณะ ซึ่งส่วนมากจะปลูกต้นไม้มีค่าไว้มากมาย และหลากหลาย แต่ขาดการติด ป้ายชื่อที่เหมาะสม หรือไม่ติดป้ายชื่อเลย 

ในหนังสือ Botanic Gardens Conservation Strategy ซึ่งจัดพิมพ์โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกเพื่อธรรมชาติ (World Wild - life Fund for Nature : WWF) ร่วมกับ สหภาพสากล ว่าด้วยการอนุรักษ์ (International Union for the Conservation of Nature : IUCN) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๙ ได้ให้คำจำกัดความของ “สวนพฤกษศาสตร์” ว่าเป็น “สวนที่มีการรวบรวม และรักษาไว้ซึ่งพืช ที่ได้จำแนกหมวดหมู่ทางวิทยาศาสตร์ไว้อย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากจะมีการลงข้อมูลและติดป้ายชื่อไว้ และเปิดให้สาธารณชนเข้าชม เพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษาและวิจัย” หนังสือเล่มดังกล่าวได้เสนอเกณฑ์ที่สถาบัน ซึ่งเรียกตัวเองว่า เป็น “สวนพฤกษศาสตร์” จำเป็นต้องมี โดยอาจมีครบ หรือไม่ครบ ก็ได้ รวม ๑๐ ประการ คือ 

(๑) มีความถาวรในระดับหนึ่ง 
(๒) การรวบรวมพืชต้องเป็นไปตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ 
(๓) มีการบันทึกข้อมูลพืชที่รวบรวมไว้อย่างถูกต้อง รวมทั้งระบุแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติด้วย 
(๔) มีการติดตามดูแลพืชที่สะสมไว้ 
(๕) มีการติดป้ายชื่อพืชที่สะสมไว้ 
(๖) เปิดให้สาธารณชนเข้าชม 
(๗) มีการสื่อสารข้อมูลกับสวนพฤกษศาสตร์ และองค์กรอื่นๆ ตลอดจนสาธารณชน 
(๘) มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ หรือวัสดุอื่นๆ กับสวนพฤกษศาสตร์ วนอุทยาน และสถาบันวิจัยอื่นๆ 
(๙) มีการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการต่างๆ เกี่ยวกับพืชที่สะสมไว้ 
(๑๐) มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับอนุกรมวิธานพืช ที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่างพืชแห้ง ร่วมกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ


อ้างอิง http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=29&chap=5&page=t29-5-infodetail01.htm

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น